โครงการควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษเพื่อส่งเสริมให้ปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม

ที่มาและความสำคัญ

รายงานสถานการณ์คุณภาพแหล่งน้ำของประเทศ ปี พ.ศ. 2560 ของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า แหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมและเสื่อมโทรมมากจัดเป็นพื้นที่วิกฤติด้านคุณภาพน้ำของประเทศไทย ในพื้นที่ 31 จังหวัด ได้แก่ ลุ่มน้ำกก ลุ่มน้ำอิง จังหวัดเชียงราย, แม่น้ำกวง จังหวัดลำพูน, แม่น้ำวังในเขตเทศบาลนครลำปาง จังหวัดลำปาง, แม่น้ำน่าน จังหวัดพิษณุโลก, แม่น้ำน่านระหว่างอำเภอบางกระทุ่มถึงอำเภอเมืองจังหวัดพิจิตรแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบนในเขตจังหวัดนครสวรรค์กับอุทัยธานี, คลองเจดีย์บูชา จังหวัดนครปฐม, คลองสาขาแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ, แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำป่าสัก จังหวัดสระบุรี, คลองประดู่ลุ่มน้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม, ห้วยหลวงตอนบน จังหวัดอุดรธานี, แม่น้ำลำพะเนียง จังหวัดหนองบัวลำภู, แม่น้ำพอง จังหวัดขอนแก่น, แม่น้ำลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์, ลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา, ลำโดมใหญ่ จังหวัดอุบลราชธานี, ลำเซบาย จังหวัดยโสธร, แม่น้ำระยอง คลองมะขามเตี้ย จังหวัดสุราษฎร์ธานี, คลองสินปุน คลองอิปัน จังหวัดกระบี่, คลองจันดี จังหวัดนครศรีธรรมราช, คลองกราย จังหวัดภูเก็ต, คลองบางนอน จังหวัดระนอง, ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ลุ่มน้ำปัตตานี จังหวัดปัตตานี, ลุ่มน้ำปัตตานี จังหวัดยะลา และลุ่มน้ำชายฝั่งตะวันออก จังหวัดนราธิวาส และแม้ว่าพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ได้ประกาศกำหนดให้หลายพื้นที่ของประเทศเป็นเขตควบคุมมลพิษ และ/หรือเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้เป็นกลไกในการจัดการควบคุมและแก้ไขปัญหามลพิษ และ/หรือป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษในการควบคุมการปล่อยน้ำเสียจากแหล่งกำเนิดมลพิษไว้ แต่เป็นการกำกับดูแลเฉพาะแหล่งกำเนิดมลพิษบางประเภทและบางขนาดเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะที่ปลายเหตุเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ ในการตรวจสอบและสั่งการตามกฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 - 2563 ในพื้นที่ที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อม พบว่าเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษสามารถตรวจสอบและควบคุมการปล่อยน้ำเสียเพียงปีละ 640 แห่งทั้งประเทศ คิดเป็นไม่เกิน ร้อยละ 10 ของแหล่งกำเนิดมลพิษทางน้ำ (น้ำเสีย) ทั้งหมดในพื้นที่ที่มีปัญหาคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมถึงเสื่อมโทรมมาก สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1-16 เป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบภารกิจปฏิบัติหน้าที่เจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ ในการเข้าติดตามตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษ เพื่อควบคุมการระบายน้ำทิ้งให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยหนึ่งในภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการควบคู่ไปกับการติดตามตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษก็คือ การส่งเสริมและสนับสนุนให้แหล่งกำเนิดมลพิษมีการจัดการน้ำเสียให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายประจำสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษ

ซึ่งมีความจำเป็นจะต้องขับเคลื่อนและสนับสนุนให้แหล่งกำเนิดมลพิษที่อยู่ภายใต้บังคับคำสั่งให้จัดการแก้ไข เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หรือซ่อมแซมระบบบำบัดน้ำเสีย ให้มีการระบายน้ำทิ้งเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป ซึ่งในปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์โดยมีการจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมประจำจังหวัดและขยายเครือข่ายศูนย์ดำรงธรรมให้ครอบคลุมทุกอำเภอเพื่อสนองตอบในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงทีครอบคลุมทั้งประเทศซึ่งการทำงานของศูนย์ดำรงธรรม จะเน้นรูปแบบการมีส่วนร่วมระหว่างภาคราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชนมูลนิธิ ชมรม สมาคม สถาบัน อาสาสมัครและองค์กรภาคเอกชนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

โดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษเป็นหน่วยงานหลักหน่วยงานหนึ่งในการสนับสนุนการดำเนินงานและร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมทั้งการเก็บตัวอย่างและตรวจวิเคราะห์คุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการประเมินสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมซึ่งจะนำไปสู่การเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1-16 กรมควบคุมมลพิษ มีห้องปฏิบัติการวิเคราะห์คุณภาพสิ่งแวดล้อมและเพื่อสนับสนุนภารกิจการติดตามตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษ และสนับสนุนเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ด้านสิ่งแวดล้อม จำเป็นจะต้องเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจวิเคราะห์คุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้มีความถูกต้อง แม่นยำ น่าเชื่อถือ และสอบกลับได้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อกระบวนการบังคับใช้กฎหมายกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงต้องพัฒนาศักยภาพการตรวจวิเคราะห์ของห้องปฏิบัติการให้ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากลสำหรับดัชนีคุณภาพน้ำที่สำคัญในการบังคับใช้กฎหมายควบคู่กันไป รวมถึง การสอบเทียบ การซ่อมบำรุงเครื่องมืออุปกรณ์ การจัดหาครุภัณฑ์ที่มีเทคโนโลยีทันสมัยและสามารถบ่งชี้สถานการณ์ปัญหาด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมซึ่งนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1-16 จะได้ดำเนินโครงการติดตามตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษตามแนวคิดประชารัฐเพื่อส่งเสริมให้ปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมโดยมีเป้าหมายเข้าติดตามตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษในพื้นที่วิกฤตด้านคุณภาพน้ำ และพัฒนาศักยภาพในการตรวจวิเคราะห์คุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้มีความถูกต้อง แม่นยำ น่าเชื่อถือ และสามารถบ่งชี้สถานการณ์มลพิษด้านสิ่งแวดล้อม และสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วม และส่งเสริม สนับสนุนให้แหล่งกำเนิดมลพิษปฏิบัติตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ในการควบคุมการระบายน้ำทิ้งให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และให้รางวัลสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการที่ตระหนักในการดูแลการประกอบกิจการของตนเองมิให้เกิดปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมรวมทั้งการให้ความสำคัญกับกระบวนการ CSR ตลอดจนการพัฒนาขีดความสามารถในการสนับสนุนการดำเนินงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุร้องเรียนด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งภารกิจสนับสนุนการตอบโต้เหตุฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งหวังว่ากิจกรรมภายใต้โครงการดังกล่าวจะสามารถช่วยลดวิกฤตด้านคุณภาพน้ำ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชารัฐตามนโยบายของรัฐบาล ต่อไป